เชื้อราและโรคภูมิแพ้

เชื้อราและโรคภูมิแพ้

อ.นพ.มงคล สมพรรัตนพันธ์
สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เชื้อราคืออะไร
เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะหลากหลาย ตั้งแต่เซลล์เดียวจนถึงหลายเซลล์ จัดเป็นผู้ย่อยสลาย (saprophyte) อยู่อาศัยได้ในสภาพแวดล้อมหลากหลาย โดยต้องการแหล่ง คาร์โบไฮเดรต ความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสม ส่วนสำคัญที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนของเชื้อรา คือ สปอร์ (Airborne spores) 

ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นโรคภูมิแพ้ จำนวนสปอร์ของเชื้อราใน 1 วัน อาจมีปริมาณสูงได้ตั้งแต่ 50 – 50,000 สปอร์/ลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้านจะมีปริมาณสูงสุด


เชื้อราและโรคภูมิแพ้
การสัมผัสกับเชื้อราในอากาศ สัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด เชื้อราบางชนิดที่สามารถเติบโตได้บนผิวหนังมนุษย์ เช่น เชื้อเกลื้อน (Malassezia) สัมพันธ์กับการทำให้โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้กำเริบได้ และเนื่องด้วยเชื้อราสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย จึงทำให้

เราสามารถพบเชื้อราได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ที่อยู่อาศัยมนุษย์ และนำมาสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นภูมิแพ้ต่อเชื้อรา โรคบางประเภทเกี่ยวข้องกับการเติบโตของเชื้อราภายในร่างกายมนุษย์ นำมาสู่การตอบสนองแบบภูมิแพ้ และการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะแต่ละแห่ง  เช่น โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังชนิดที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อรา (Allergic fungal rhinosinusitis), โรคหืดรุนแรงที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อรา Aspergillus (Allergic bronchopulmonary aspergillosis) ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่เดิม อาจมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของเชื้อรา ทำให้เชื้อราเข้าไปเติบโตภายในปอดได้ เช่น Fungal ball disease


การป้องกันเพื่อลดการสัมผัสเชื้อราภายในบ้าน

1. ลดความชื้นบริเวณที่อยู่อาศัย (Decrease dampness)
การลดความชื้นในที่อยู่อาศัย ให้เหลือความชื้นสัมพัทธ์น้อยกว่า 50% จะช่วยลดการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ เนื่องจากเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตได้ดีในสภาะที่มีความชื้น
2. การแก้ไขสาเหตุที่ทำให้มีความชื้นภายในบ้าน
โดยทั่วไปน้ำหรือความชื้นสามารถเข้ามาภายในบ้านได้ผ่าน เช่น เล็ดลอดเข้ามาโดยตรง (Intrusion) เช่น รู หรือรอยแตกร้าว ของกำแพง ผนัง เพดาน รวมถึงช่องหน้าต่าง เมื่ออุณหภูมิเย็นลงไอน้ำอาจเกิดการควบแน่น (Condensation) เป็นหยดน้ำเกาะตามพื้นผิวต่างๆ หรือการรั่วไหลจากแหล่งจ่ายน้ำ (Leakage) เช่น ท่อประปา ภาชนะบรรจุน้ำ
3. กำจัดแหล่งที่มีเชื้อราเจริญอยู่
เช่น การนำพรม วอลล์เปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีเชื้อราเจริญอยู่บนพื้นผิว ออกจากบริเวณที่พักอาศัย รวมถึงการหมั่นทำความสะอาดห้องโดยการใช้เครื่องดูดฝุ่น เพื่อหวังลดปริมาณสปอร์ของเชื้อราที่อาจอยู่ในฝุ่น การใช้เครื่องกรองอากาศช่วยลดปริมาณสปอร์เชื้อราที่ฟุ้งกระจายในอากาศ (Airborne spore) ได้
4. ทำความสะอาดพื้นผิววัสดุอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ด้วยน้ำผสมน้ำยาที่กำจัดเชื้อรา


การปฏิบัติตัวเมื่อสงสัยอาการโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา

1. ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินและให้การรักษาเฉพาะโรค
2. ควรใช้ยารักษาโรคตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และรีบกำจัดแหล่งเชื้อราตามคำแนะนำ



เอกสารอ้างอิง
1. Portnoy JM, Jara D. Mold allergy revisited. Ann Allergy Asthma Immunol. 2015;114(2):83-9.
2. WHO Guidelines for Indoor Air Quality: Dampness and Mould. WHO Guidelines Approved by the Guidelines Review Committee. Geneva2009.